วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557

เทคโนโลยีอํานวยความสะดวก

ความหมายของเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และ การบริการเทคโนโลยี
สิ่งอำนวยความสะดวก
เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นหรือดัดแปลงจากที่มีอยู่เดิม นำมาผลิตเป็นอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้พิการ ให้สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้แบบพึ่งพิงตัวเอง (Independent living) หรือพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุด และมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ครอบคลุมไปถึงการให้บริการ การประยุกต์ใช้และการนำไปปฏิบัติเพื่อลดอุปสรรคในการทำกิจกรรมของผู้พิการ

อุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก หมายถึง
              อุปกรณ์ต่างๆ ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ หรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งวางจำหน่ายทั่วไป ดัดแปลง หรือผลิตขึ้นมาเฉพาะบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการเพิ่มเติมดูแลรักษา หรือพัฒนาความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้พิการที่ใช้อุปกรณ์นั้น ๆ ซึ่งอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกนี้หมายรวมถึงเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน (Low Technology) ไปจนถึงเทคโนโลยีขั้นสูง (Hight Technoloty)

การบริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก หมายถึง
การให้บริการใด ๆ ก็ตามที่ช่วยเหลือผู้พิการโดยตรงในการเลือกการจัดหา การหาความรู้ และการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก การให้บริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกรวมไปถึง

๑. การตรวจประเมินถึงความต้องการจำเป็นของคนพิการแต่ละบุคคล ซึ่งรวมถึงการประเมินความสามารถหรือศักยภาพในการทำงานในสิ่งแวดล้อมเฉพาะของแต่ละบุคคล

๒. การซื้อ การเช่า หรือการจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จำเป็นสำหรับคนพิการแต่ละบุคคล

๓. การเลือก การออกแบบ การผลิตอุปกรณ์เฉพาะบุคคล การปรับแต่ง และการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับคนพิการแต่ละบุคคล ตลอดจนการบำรุงรักษา การซ่อมแซม และการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เหมาะสม

๔. การประสานงานและการหาความร่วมมือในการให้บริการอุปกรณ์ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้รักษา นักวิชาชีพ ผู้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น หรือบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

๕. การฝึกหรือให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคนิคต่าง ๆ ในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการแต่ละบุคคล หรือครอบครัวของคนพิการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทั้งผู้ที่ให้บริการด้านการศึกษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่คนพิการ นายจ้างหรือบุคคล อื่น ๆ ซึ่งทำหน้าที่การบริการ การจ้างงาน หรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ของคนพิการแต่ละบุคคล

สถาบันวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Rehabilitation Engineering and Assistive Technology: REAT) เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่า "โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี"  ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 2543 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) จัดทำโครงการนำร่องโดยใช้ชื่อ "โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (Assistive Technology Center: ASTEC)" ซึ่งเป็นชื่อเรียกเดิมของ REAT ในช่วงเวลานั้น
โครงการดังกล่าวดำเนินการในรูปแบบของศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มีเครือข่ายวิจัยครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างความเท่าเทียมในด้านโอกาสให้กับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสในการพึ่งพาและพัฒนาศักยภาพของตนเองในสังคม ตลอดจนดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในประเทศ และเพื่อเป็นการลดการนำเข้าเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศ
ต่อมาในช่วงปีงบประมาณ 2550 การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการระดับ สวทช. ในรูปแบบ Strategic Planning Alliance (SPA) และการกำหนดโครงสร้างการดำเนินงานภายใน ศอ. ใหม่ เป็นผลทำให้ ASTEC มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานวิจัยโดยให้ความสำคัญครอบคลุมถึงกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น รวมทั้งมีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภายใน และมีการเปลี่ยนชื่อของหน่วยวิจัยใหม่ในช่วงปีงบประมาณ 2552 มาเป็น REAT ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกหน่วยวิจัยดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน


วิสัยทัศน์

"ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก มุ่งมั่นที่จะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกด้วยหลักการการออกแบบที่ครอบคลุม พร้อมทั้งผลักดันผลงานสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายเพื่อให้การทำงานวิจัยและพัฒนามีความยั่งยืน มีการเผยแพร่ผลงานในเชิงพาณิชย์เพื่อคนพิการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ด้วยความหวังว่าผลงานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน"

เป้าหมาย/แนวทางการดำเนินงาน

REAT มีเป้าหมาย/แผนการดำเนินการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุผ่านกระบวนการหลักคือ
  1. ผลักดันการขยายผลเชิงนโยบายร่วมกับภาครัฐส่วนอื่นๆ ผ่านการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนากฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและ เทคโนโลยี รวมถึงบริการการออกแบบ ทดสอบ และประเมินเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
  2. ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ผ่านการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนเพื่อตอบปัญหาเชิงสังคมอย่างยั่งยืน
  3. วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างองค์ความรู้ในรูปแบบทรัพย์สินทางปัญญา
  4. สร้างความตระหนักให้สังคมถึงความสำคัญของผู้พิการและผ้สูงอายุ และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ และการเขียนบทความสาธารณะ

ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี

REAT ประกอบด้วย 3 กลุ่มวิจัยหลัก คือ
1. กลุ่มวิจัยวิศวกรรมระบบประสาทและระบบฟื้นฟูสมรรถภาพ (Neuroengineering and Rehabilitation Systems) ดำเนินการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ด้านวิศวกรรมระบบประสาทและระบบฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุและผู้พิการ มุ่งเน้นการร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้าสู่ระบบบริการ และสร้างความเข็มแข็งทางวิชาการ โดยกลุ่มมีแผนงานวิจัยหลักใน 3 ด้านคือ
  • ด้านการพื้นฟูสมรรถภาพทางพุทธิปัญญา (Cognitive Rehabilitation)
  • ด้านการพื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน (Auditory Rehabilitation)
  • ด้านการพื้นฟูสมรรถภาพทางกายภาพ (Physical Rehabilitation)
2. กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) ดำเนินการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มุ่งเน้นการร่วมมือกับเครือข่ายพัฒนารูปแบบเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีโดยทั่วถึงและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการให้บริการเชิงสังคม ซึ่งกลุ่มมีแผนงานวิจัยหลักใน 2 ด้านคือ
  • ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living Technology)
  • ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการศึกษา (Assistive Technology for Education)
3. กลุ่มวิจัยประยุกต์และบริการทดสอบและประเมินเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assessment Service and Applied Research in Assistive Technology) ยังมีภารกิจในด้านการวิจัยประยุกต์เพื่อบูรณาการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบ โปรแกรมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อคนพิการ ซึ่งรวมถึงภารกิจในการจัดแสดง สาธิต และอบรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงให้บริการปรึกษาและประเมินการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ

ความเชี่ยวชาญของนักวิจัย

REAT มีทีมนักวิจัยที่มีประสบการณ์และมีความสนใจในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ
  • วิศวกรรมระบบประสาทและระบบฟื้นฟูสมรรถภาพ (Neuroengineering and Rehabilitation Systems)
    • การออกแบบอัลกอริทึ่มและระบบประมวลสัญญาณดิจิตอล สำหรับเครื่องช่วยฟัง ซึ่งรวมไปถึงการทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์
    • การออกแบบระบบไร้สายสำหรับอุปกรณ์ช่วยการได้ยิน
    • การใช้งานเทคโนโลยี brain computer interface เพื่อการช่วยการสื่อสาร และเพื่อการฟื้นฟูพุทธิปัญญา
    • การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพและกายอุปกรณ์เทียม
  • เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology)
    • การพัฒนาซอฟแวร์สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ โดยเฉพาะด้านการเรียนในเด็กที่มีความบกร่องด้านการเรียนรู้
    • การออกแบบระบบและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ multimodal inputs สำหรับการเฝ้าระวังผู้ป่วยและผู้สูงอายุ
  • ประยุกต์และบริการทดสอบและประเมินเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assessment Service and Applied Research in Assistive Technology)
    • การวิจัยประยุกต์เพื่อบูรณาการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบ โปรแกรมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อคนพิการ
    • การวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแผนงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคนพิการในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และการดำเนินชีวิตประจำวัน
    • การวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านคนพิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น